ตัวผมเองเคยเล่นเกมเก่าจริงๆแค่ Drag on Dragoon 1 เท่านั้น แถมเล่นไม่จบด้วย ส่วนที่เหลือคือนั่งดูน้องเล่นหมด ส่วนที่มาเล่นภาคนี้สาเหตหลักจริงๆ คือ ดีไซน์คาแรกเตอร์ สาเหตรองคือแพลตินั่มเกม
เริ่มแรกมาผมเล่นที่ระดับ Hard ทันที ซึ่งช่วงดันมาคุ (ขับยานบิน) ช่วงแรก ก็ตายไปสองสามรอบแล้ว ในระดับฮาร์ดตัวเรานั้นเปราะบางมาก โดนยิงสองนัดร่วง ซ้ำพอเท้าแตะพื้นได้เป็นครั้งแรก ก็โดนฝูงกี้ๆ รุมทึ้งตายในพริบตา ก็เลยจำใจยอมกลับไปเล่น Normal แทน ขี้เกียจมานั่งเล่น prologue วนหลายๆ รอบ
NieR:Automata ไม่ได้เป็นเกมที่กราฟฟิคหรูเลิศอลังการแต่อย่างใด ออกจะค่อนข้างตกยุคไปด้วยซ้ำ แต่บรรยากาศในเกมโดยรวมทำเอาไว้ได้ดีมาก บวกกับเพลงที่ออกไปทางเหงาๆ ช่วยส่งเสริมภาพรวมของเกมไปอีก
ระบบอาวุธ ในกรณีของ 2B จะถืออาวุธได้สองชิ้น เป็นปุ่มโจมตีเบา และ หนัก อาวุธชิ้นเดียวกันก็จะมีโมชั่นการโจมตีที่แตกต่างกันของทั้งเบาและหนัก แต่ อาวุธในเกมถึงจะมีหลายอันมาก แต่ทุกอันจะมีโมชั่นที่เหมือนๆ กันหมดแบ่งเป็น ดาบสั้น ดาบเล็ก ดาบใหญ่ หอก และ หมัด จุดที่แตกต่างกันจริงๆ จะเป็น stats กับ passive ability ของอาวุธแต่ละอัน ส่วนของ 9S จะถืออาวุธได้แค่ชิ้นเดียว และโมชั่นการโจมตีก็จะไม่เหมือน 2B ออกจะไปทางโจมตีระยะกลางๆ มากกว่า แต่ปัญหาของ 9S คือตัวนิ่มเกินไปที่จะคลุกวงใน ทำให้หลายๆ ครั้งใช้ hacking สั่งให้ศัตรูระเบิดตัวเองไปเลยง่ายกว่ามาก (เป็นจุดที่ผมไม่ชอบเท่าไหรในช่วงที่เล่นเป็น 9S)
รูปแบบของศัตรูก็ออกจะค่อนข้างจำกัดเหมือนกัน คือตัวนึงอาจจะมีหลายวาริเอชั่นก็จริง แต่วิธีสู้ก็จะเหมือนๆ เดิมหมดเช่นถ้าเจอเป็นชนิดนี้ แพทเทิร์นที่มันจะโจมตีมันก็จะมีแต่แบบเดิม ไม่ค่อยหลากหลายมากนัก
อาวุธแต่ละอัน จะมีเนื้อเรื่องเขียนติดมาด้วย ซึ่งพอเราอัปเกรดอาวุธไปเนื้อเรื่องของอาวุธก็จะปลดล็อคให้อ่านเพิ่ม ทำให้กลายเป็นจุดประสงค์หลักจริงๆ ของการไล่อัปเกรดอาวุธทุกอันใน NieR:Automata ซะมากกว่า (เข้าใจว่าเกมอื่นๆ ในซีรี่ยก็จะคล้ายๆ แบบนี้เหมือนกัน)
อีกจุดหนึ่งที่ค่อนข้างเป็นเอกลักษณ์ของ NieR ตั้งแต่ภาคแรกคือเราจะมีผู้ช่วยเป็น pod คอยบินตามอยู่ ซึ่ง pod เริ่มต้นจะติดตั้งปืนกลเอาไว้ ถึงแม้พลังทำลายจะไม่ได้รุนแรงมาก แต่มันใช้งานได้ดีมากในเวลาที่ต้องการจะกวาดกระสุนของศัตรูออก และตัว pod จะมีไม้ตายติดตั้งไว้ที่ไม่เสียอะไรในการใช้ นอกจากมีคูลดาวน์ แต่ตัว pod แต่ละตัวมีคูลดาวน์ที่แยกกัน ทำให้พอเรามี pod ครบสามตัว ช่วยทำให้ตัวเกมเล่นได้ลื่นไหลเยอะขึ้นมาก แต่น่าเสียดายที่ pod ตัวหนึ่ง side quest ที่อาจมองข้ามไปง่ายๆ ส่วนอีกตัวต้องไปตกปลาหาแบบไม่มีอะไรใบ้ ดังนั้นคนเล่นทั่วไป ถ้าไม่ไปเปิดเฉลยดูคงจะมี pod กันแค่ 1 หรือ 2 ตัวเท่านั้น
ระบบของสวมใส่ใช้เป็นชิปค่าพลังต่างๆ ที่เราเลือกใส่เองได้ตามใจชอบเท่าที่ยังมีสล็อตเหลือ ชิปที่มีค่าพลังสูงก็จะกินเนื้อที่กว่าชิปค่าพลังต่ำ แต่ในชิปที่มีค่าพลังเท่ากัน ก็จะกินสล็อตไม่เท่ากันด้วย ตรงนี้น่าจะมีบางคนที่เล่นแบบควานหาชิปที่มีค่าพลังที่ดีที่สุดแต่กินเนื้อที่น้อยที่สุดมาใช้กันบ้าง
ผมพบว่าชิปที่สำคัญๆ ในการเอาตัวรอดคือชิปที่ใช้เพิ่มพลังในสถานะการต่างๆ เช่นฆ่าศัตรูแล้วพลังเพิ่ม ที่ช่วยประหยัดไอเท็มฟื้นพลังในระหว่างลุยตามฉาก หรือโจมตีใส่ศัตรูแล้วพลังเพิ่ม ที่ไม่ว่าบอสจะเลวแค่ไหน ถ้าเราวิ่งหนีไปเรื่อยๆ แล้วปล่อย pod ยิงไปก็จะฟื้นพลังเราได้แบบสบายๆ
ซับเควสของ NieR:Automata นั้นเขียนบทไว้ได้ดีมาก แต่ละเควสเป็นส่วนต่อขยายที่จะช่วยให้เราเข้าใจโลกของเกมได้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหลายๆ ซับเควสจบแบบเลวๆ (ชม) เยอะมาก
NieR:Automata เป็นเกมที่มีเอนดิ้งถึง 26 แบบ แต่ที่นับว่าเป็นเอนดิ้งจริงๆ มีแค่ 5 แบบเท่านั้น ส่วนที่เหลือ 21 แบบ จะเป็น bad end แบบขำๆ เวลาเราทำเงื่อนไขถูกต้องเช่น ถอดชิป os ออก, กดระเบิดตัวเองในฐานทัพ, ฟัน npc บางตัวทิ้ง เป็นต้น
แต่จริงๆ แล้ว Ending A กับ B เป็นเพียงแค่ครึ่งแรกของเกมเท่านั้น หากอยากสัมผัสเนื้อเรื่องทั้งหมดจริงๆ ก็จะต้องเล่นให้จบ C หรือ D ด้วย หรือต้องเล่นอย่างน้อยสามรอบ แต่ละรอบใช้เวลาราวๆ 10 ชั่วโมง
ในด้านเนื้อเรื่องที่แบ่งเป็นครึ่งแรกกับครึ่งหลัง ตัวละครอย่าง 9S จะมีการพัฒนาการ(?) ที่โดดเด่นกว่า 2B หรือ A2 มากและการกำกับเรื่องยังคงเป็นแบบโยโกทาโร่ ที่มักจะแอบหมกเม็ดอยู่ตลอดเวลา (ในกรณีที่เคยเล่น NieR Gestalt/Replicant มาก็อาจจะพอเดาอะไรได้บ้าง)
จุดที่ผมชอบที่สุดคือการนำเสนอเรื่องราวของตัวเกมทำได้อย่างลื่นไหล ถึงแม้เมื่อเล่นไปถึงจุดหนึ่งก็จะเริ่มเดาปลายทางได้แล้ว แต่ในระหว่างทางมีการกำกับภาพและเสียงที่ทำให้ชวนติดตามอยู่ตลอดเวลา และเพลง soundtrack ของเกมนี้จัดว่าอยู่ในขั้นดีเยี่ยม ซึ่งน้อยมากที่ผมจะสามารถฟัง soundtrack ของเกมได้ทั้งอัลบั้มโดยที่ไม่เบื่อไปก่อน
ข้อสังเกตเล็กน้อยในเพลง The Weight of the World เวอร์ชั่นญี่ปุ่น คนร้องเพลงน่าจะมีอาการอินกับตัวเพลงมากจนร้องไห้ ในช่วงท้ายๆ เพลง (น้ำเสียงในช่วงท้ายๆ เพลงมีอาการสั่นๆ เหมือนคนร้องไห้) และเนื้อเรื่องของเพลงนี้ในเวอร์ชั่น eng น่าจะเป็นมุมมองของ 2B ส่วนเวอร์ชั่นญี่ปุ่นเป็นมุมมองของ 9S
สารภาพตรงๆ ว่าไม่เคยคิดจะเล่นภาคแรกเพราะ ไอเดียการตลาดแปลกๆ ที่แบ่งเป็น Gestalt กับ Replicant ซึ่งต่างกันแค่พระเอกส่วนเนื้อเรื่องเหมือนกันหมด และในเวอร์ชั่นที่หาซื้อได้ง่ายในบ้านเรามันเป็น Gestalt ที่พระเอกเป็นลุงกล้าม ส่วน Replicant นั้นขายเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น
แต่หลังจากเล่น NieR:Automata จบ และไปตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมตอนนี้ผมก็อยากกลับไปเล่น NieR Gestalt/Replicant แล้วละ