Kotobukiya 1/72 Noblesses Oblige

Rosenthal CR-HOGIRE Noblesse Oblige (Armored Core 4/FA)

งานทำสีทั้งตัว ตัวที่สอง แต่โหดกว่าตัวแรกหลายเท่า

ตัวที่แล้วพ่นสีเลยแบบไม่รองพื้น ตัวนี้ก็เลยทำตั้งแต่รองพื้นไปจนจบพ่นเคลียทับ มีดัดแปลงชิ้นส่วนบางชิ้นให้กลายเป็น snapfit ทำให้ง่ายตอนเวลาทำสี บางชิ้นก็ใช้วิธีทำสีเสร็จค่อยประกอบ แล้วไปอุดขัดชิ้นส่วนที่ประกอบทับลงไปทีหลัง ใช้เวลาว่างค่อยๆ ทำไปเรื่อยๆ รวมๆ ลากยาวมาเกือบสองเดือนตั้งแต่เริ่มทำ

ตัวหุ่นมาจากเกม Armored Core 4 / For Answer ของเครื่อง PS3 จากค่าย From Software ในเนื้อเรื่องนั้น Noblesse Oblige เป็นหุ่นรุ่นปรับแต่งโดยมีพื้นฐานจาก HOGIRE จากบริษัท Rosenthal ด้วยปืนเลเซอร์หกลำกล้องที่ติดหลัง กับสีขาวดำลายทอง ทำให้ Noblesse Oblige เป็นหนึ่งในหุ่นที่โดดเด่นของเกม

เกี่ยวกับตัวงาน

Noblesse Oblige parts
พ่นสีรองพื้น

อุปสรรค์ที่สำคัญตอนระหว่างต่อตัวนี้คือ มีชิ้นส่วนเล็กๆ ที่เยอะมาก ทำหล่นพื้นเวลาอุดขัดก็บ่อย หล่นทีก็หากันแถบพลิกบ้านที หนักสุดคือเผลอทิ้งชิ้นส่วนติดไปกับถุงพลาสติกห่อรันเนอร์ กว่าจะรู้ตัวก็สองวันให้หลังไปขุดเจออยู่ในถังขยะ (ดีที่แม่บ้านไม่เก็บไปทิ้งซะก่อน)

โมเดลตัวนี้เป็นตัวที่มีร่อง Sink Mark หรือรอยบุ๋มที่เกิดจากการหล่อชิ้นส่วนเยอะมาก ส่วนใหญ่ก็ใช้กระดาษทรายขัดทิ้งดูก่อน ถ้าขัดออกไปแล้วมันไม่หมดสักทีถึงจะลองอุด ส่วนการอุดรอย ผมก็ลองทั้งใช้กาวทามิย่าฝาขาวทาลงไปตรงๆ แล้วทิ้งไว้ให้แห้งหนึ่งวัน กับ พุตตี้ โปะลงไปรอแห้งแล้วขัดออก ก็ได้ผลดีเสียต่างกันไป ในแง่ความคงทนของเนื้องานหลังขัด กาวทามิย่าดูจะได้ผิวงานที่ทนกว่า แข็งกว่า แต่กว่าจะขัดออกได้จนผิวเรียบก็เหนื่อยกว่าด้วยเช่นกัน แต่ถ้าเป็นกรณีที่รอยมันลึกมากๆ ก็จะใช้กาวหยอดไม่ได้ ใช้พุตตี้ก็จะได้ผิวที่ดีกว่า

HOGIRE core part
ลำตัวกับหัว ที่พ่นสีพื้นเสร็จแล้ว

ชิ้นส่วนบางชิ้น ก็ตัดแต่งเดือยทิ้งให้เป็น snapfit จะได้สะดวกตอนทำสี ไม่ต้องเสียเวลาแปะมาสกิ้งเทป

ส่วนบางชิ้นที่ไม่สามารถทำเป็น snapfit ได้ ก็ใช้วิธีทำสีชิ้นด้านในก่อนให้เรียบร้อย แล้วประกบชิ้นด้านนอกทับลงไปอุดขัดเก็บรอยแล้วพันเทปเฉพาะชิ้นด้านใน แต่ทำไปทำมา คิดว่าสุดท้ายก็ใช้เวลาพอๆ กับประกอบทีเดียวทั้งหมด แล้วบังพ่นสีทีละส่วนไล่ตามความเข้มเอา ซึ่งน่าจะได้งานดีกว่าด้วย

Noblesse Oblige parts
ชิ้นส่วนด้านหลังน่องขาที่ทำสีเสร็จแล้ว

สีที่ใช้หลักๆ เป็นสีของ Gaianotes ทั้งหมด

  • สีขาวหลักทำด้วย Gaianotes Neutral Gray I, II
  • สีดำ Gaianotes Frost Matt Black
  • สีทอง Mr. Color Super Gold
Noblesse Oblige (base color)
ตัวงานหลังพ่นสีพื้นเสร็จก่อนจะเก็บรายละเอียดอาวุธ

ชิ้นงานตอนแรกพ่นออกมามีความรู้สึกว่ามันไม่ออกมาขาวแบบที่คิด มันออกเทาๆ มากกว่า ทั้งๆ ที่คิดว่าเลือกสีตามใบประกอบนะ แต่หลังจากจับทุกชิ้นมาประกอบรวมกัน ก็พบว่าสีดำที่เป็นสีรองช่วยให้สีขาวที่ตอนแรกออกเทาๆ ดูขาวขึ้นมากว่าเดิมมาก

noblesses oblige laser cannon
อุดรอย ปืนเลเซอร์หกลำกล้อง

ชิ้นบนประกอบดิบยังไม่ทำอะไร จะเห็นว่ามีรอยต่อใหญ่ชัดเจนมาก จริงๆ จะทิ้งเอาไว้เป็นรอยดีเทลก็ได้ แต่ผมอยากจะเก็บรอยนี้ทิ้งไปเสีย ก็เลยลงพุตตี้ นั่งอุดขัดเอา ในรูปชิ้นล่างคือชิ้นที่ลงพุตตี้เป็นชิ้นแรก น่าเกลียดมาก… กว่าจะขัดออกจนหมดนี่ก็เล่นเอาเหนื่อย

ชิ้นหลังๆ เอาทินเนอร์ผสมลงพุตตี้นิดหน่อย แล้วเอาพู่กันค่อยๆ หยอดลงตามร่อง ทำให้แผลสวยกว่าชิ้นแรกเยอะมาก และประหยัดเวลาตอนขัดทิ้งไปได้เยอะด้วย

พันเทปก่อนพ่นสี
อาวุธ และชิ้นส่วนอื่นๆ ที่ลงสีเสร็จแล้ว

การตัดเส้นทำด้วย Tamiya Panel Line เป็นหลัก แต่ในกรณีลายดำที่กว้างๆ ก็ใช้ Tamiya X-1 Black ทาลงไปตรงๆ แล้วเช็ดออกด้วยทินเนอร์อีนาเมล

ดวงตาข้างในพ่นสีเงิน ส่วนกระจกตาด้านนอกทาเคลียแดงเอา เวลาเอาไฟส่องทำมุมดีๆ ให้ดวงตาข้างในสะท้อนแสงจะสวยมาก

ท่อไอพ่นที่เหลือใช้สีเมทัลลิคเงิน กับ กันเมทัลพ่น

อื่นๆ

  • ชิ้นข้อมือซ้ายร้าวตอนทำสี น่าจะเพราะโดนทินเนอร์อีนาเมลไหลเข้าไปกัดตรงที่ไม่มีสีเคลือบ
  • ชิ้นหัวไหล่เป็นชิ้นที่พ่นสียากที่สุดเพราะรูปทรงซับซ้อน
  • ไม่ได้พ่นเคลียมันก่อนตัดเส้นเพราะขี้เกียจ
  • แล้วก็ลืมเช็ดสีตัดเส้นบางที่ พอพ่นเคลียไปเลยเป็นคราบเด่นมาก ดีว่าไม่ใช่จุดทีเห็นได้ง่ายเท่าไหร
  • การขยับท่าทางค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะต้นขาที่เวลาขยับท่ามันจะไปโดนส่วนก้อน stabilizer ที่ยืนออกมา

ปล. อยากได้วิธีทำ gallery จาก imgur บน wordpress ที่ดีกว่านี้จัง สงสัยต้องไปหาโค้ดเอาเอง

Leave a Reply